เรียนรู้กับครูพลศึกษา (ครูสิงห์)
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

 

ประวัติกีฬาเทนนิส ความเป็นมาของ กีฬาเทนนิส (Tennis)

 

มีหลักฐานพบว่า ประมาณศตวรรษที่ 13 ประเทศฝรั่งเศสมีการเล่นเกมส์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกีฬาเทนนิสเรียกว่า Le Jeu Du Paume (เจอเดอปูม) หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า The Game of the Palm (เกมส์ของฝ่ามือ) เป็นกีฬาของชนชั้นสูงที่เล่นในร่มโดยใช้ฝ่ามือตีลูกบอลทรงกลม หลังจากนั้นจึงมีการใช้เเร็คเก็ตเเทนฝ่ามือ
คำว่า La Journee (ลาจูเน่) ภาษาฝรั่งเศสโบราณแปลว่าหนึ่งวัน ในการแข่งขันกีฬาแมทช์สมัยนั้น จะยึดเอาจำนวนนาทีใน 1 ชั่วโมงและจำนวนชั่วโมงใน 1 วันเป็นเกณฑ์ ดังนั้น กีฬาแมทช์หนึ่ง จะมี 24 เกม ในแต่ละเกมจะมี 4 แต้มและแต้มละ 15 คะแนน (ในหนึ่งชั่วโมง สามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วงๆ ละ 15 นาที) เมื่อนักกีฬาเล่นได้แต้ม 45 คะแนนเท่ากัน จะต้องเล่นให้ได้ 2 แต้มติดกันจึงเป็นผู้ชนะ ดังนั้นถ้าเล่นได้แต้ม 45 เท่ากัน ต้องเล่นอีก 2 แต้มคือ 15 และ 15 ซึ่งเมื่อรวมคะแนนทั้งหมดเข้าด้วยกัน คะแนนจะเกิน 60 (45 + 15 + 15 = 75) จึงตกลงเปลี่ยนคะแนนเมื่อแต้มเท่าจาก 45 : 45 คะแนน มาเป็น 40 : 40 คะแนน แล้วแต้มต่อไปจะเป็นแต้มละ 10 คะแนน (40 + 10 + 10) และถ้าเกิดได้คะแนน 50 : 50 เท่ากัน ต้องเล่นกันใหม่จนกว่าจะได้ 2 แต้มติดกัน จึงเป็นผู้ชนะ เช่นเดียวกับการเล่นเกม เมื่อได้ 23 เกมเท่ากัน จะแพ้ชนะกัน ต้องได้ 2 เกมติดกัน ซึ่งรวมแล้วจะเกิน 24 เกม จึงลดเป็นเมื่อได้ 22 เกมเท่ากันแล้วต้องได้อีก 2 เกมติดต่อกันจึงเป็นฝ่ายชนะ แต่การเล่นนานถึง 24 เกม ใช้เวลานานมาก ดังนั้นจึงค่อยๆ ลดลงจาก 24 เกม เหลือ 12 เกม จนในที่สุดเหลือ 6 เกมดังเช่นในปัจจุบัน
ในตอนต้นศตวรรษที่ 17 มีการสร้างคอร์ทนับร้อยในกรุงปารีสและกีฬานี้เป็นที่นิยมมาก จนกระทั่งนำไปสู่การพนัน ทำให้กีฬานี้ถูกห้ามเล่นในที่สาธารณะแต่อนุญาติให้เล่นได้ในกลุ่มสังคมชั้นสูง และในตอนปลายศตวรรษที่ 18 คำว่า เตอเน่ (Tenez) ก็ปรากฎขึ้น บางทีอาจเป็นเพราะชาวอังกฤษพยายามออกเสียงตามภาษาฝรั่งเศสโบราณ ซึ่งคำว่า "เตอเน่" แปลว่าเล่นหรือจับจึงเพี้ยนไป ในที่สุดกลายเป็น เทนนิส (Tennis)
ตอนปลายศตวรรษที่ 16 Le Jeu Du Paume ถูกนำเข้าไปในประเทศอังกฤษ จึงนับได้ว่าประเทศอังกฤษมีส่วนในการพัฒนากีฬานี้ ในปี ค.ศ. 1327 - 1377 กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 3 ได้สร้างคอร์ทขึ้นภายในพระราชวังวินเซอร์ และในปี ค.ศ. 1414 เจ้าชาย Dauphin แห่งฝรั่งเศส ได้ถวายของขวัญแก่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 เป็นลูกบอลสำหรับใช้เล่นเกมส์นี้ หลักฐานการถวายของขวัญครั้งนี้ ปรากฏอยู่ในบทละครของเชคสเปียร์เรื่องพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 (Henry V) ในภาค (Act) ที่ 1, ฉาก (Scene) ที่ 2, บรรทัดที่ 261-262 ดังนี้

 

"When we have match'd our rackets to these balls,
We will in France (by God's grace) play a set . . . ."


   หลังจากการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศส Le Jeu Du Paume ก็สูญหายไปพร้อมกับกลุ่มชนชั้นสูง แต่ในประเทศอังกฤษยังคงมีการเล่นกีฬานี้อยู่ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1874 นายพันตรี วอลเตอร์ คล็อปตัน วิงฟิลด์ (Major Walter Clopton Wingfield) ได้ดัดแปลงการเล่นมาจากกีฬาเทนนิสซึ่งแต่เดิมเล่นกันในร่มมาเล่นกันกลางแจ้ง และเรียกชื่อว่า Sphairistike แปลว่า Play ในภาษากรีก
อุปกรณ์การเล่นต่างๆ ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย เสา ตาข่าย ลูกบอล ไม้แร็กเกตและกติกาการเล่น สนามเทนนิสของเขามีลักษณะตรงกลางแคบแต่ทางด้านท้ายสนามผายออก คล้ายนาฬิกาทราย สำหรับตาข่ายที่ใช้กั้นตรงกลางสูง 7 ฟุตเหมือนตาข่ายแบดมินตัน
ในระยะต่อมากีฬาเทนนิสเป็นที่นิยมและเล่นกันทั่วทั้งประเทศอังกฤษ แต่ละแห่งก็ตั้งกฎเกณฑ์และกติกาของตนเองขึ้น ตาข่ายที่กั้นกลางสนามก็เลื่อนจากที่สูงมาตั้งบนพื้น ในปี ค.ศ. 1875 สโมสรแมรี่ลีบอน คริกเกต (The Marylebone Cricket Club) ซึ่งเป็นสโมสรที่สำคัญในการดูแลมาตรฐานของเกมส์กีฬาต่างๆ และได้รับการสนับสนุนจากสโมสรออลอิงแลนด์โครเกท์ (The All England Croquet Club, ก่อตั้งเมื่อปี 1868 อยู่ชานเมืองของกรุงลอนดอนที่มีชื่อว่า Wimbledon) ได้พยายามเข้ามามีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานของกีฬานี้ และได้ตั้งกติกาลอนเทนนิสขึ้นมาใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากของพันตรีวิงฟิลด์ ทำให้คนอังกฤษหันมาเล่นเทนนิสกันมากขึ้น มีการสร้างสนามเทนนิสขึ้นทั่ว ๆ ไป และในปี ค.ศ. 1877 ได้มีการจัดการแข่งขันเทนนิสชิงชนะเลิศแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันสิ่งที่เป็นของพันตรีวิงฟิลด์ที่เหลืออยู่ให้เห็นได้แก่ อุปกรณ์การเล่นที่เป็นตาข่าย กับชื่อคำว่า "เทนนิส" เท่านั้น นอกจากนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทั้งสิ้นรวมทั้งคอร์ท กติกาการเล่นและวิธีนับคะแนน พันตรีวิงฟิลด์จึงเปรียบเสมือนบิดาแห่งวงการเทนนิสโลก รูปปั้นของพันตรีวิงฟิลด์ ตั้งอยู่ที่ลอนเทนนิสสมาคมแห่งอังกฤษ
จากหลักฐานที่บันทึกส่วนใหญ่ พบว่า แมรี่ เอาเทอร์บริดจ์ (Mary Outerbridge) ได้ไปพบกีฬาเทนนิสที่เบอร์มิวดา (Bermuda) และในปี 1874 ได้นำอุปกรณ์และวิธีการเล่นกีฬานี้มาเผยแพร่ในประเทศอเมริกา โดยเล่นกันที่ The Staten Islang Cricket and Ba seball Club รัฐนิวยอร์ค แต่นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ Tom Todd ได้บันทึกไว้ว่าเป็น Dr. James Dwight เป็นผู้นำกีฬาเทนนิสเข้ามายังประเทศอเมริกาในตอนต้นของปีเดียวกัน ที่จริงแล้วก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนแรก อย่างไรก็ตาม Mary Outerbridge เป็นคนที่พยายามผลักดันกีฬาเทนนิสในรัฐนิวยอร์ค ส่วน Dr. James Dwight แพทย์หนุ่มจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด (Harvard Medical School) เป็นผู้ที่บทบาทสำคัญต่อวงการเทนนิสของอเมริกาและได้ชื่อว่าเป็น บิดาแห่งกีฬาเทนนิสอเมริกา (Father of Tennis U.S.) Dwight ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนมา แต่กลับทุ่มเทเวลาให้กับเทนนิส โดยเป็นผู้ฝึกสอนแชมป์ชายเดี่ยวคนแรกของอเมริกา Dick Sears และเล่นคู่กับ Sears จนได้ตำแหน่งชนะเลิศประเภทชายคู่ในรายการ U.S. Open
กีฬาเทนนิสได้ถูกบรรจุอยู่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคตั้งแต่ครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ (ปี 1896) เรื่อยมาจนถึงการแข่งขันโอลิมปิคที่กรุงปารีสในปี 1924 หลังจากนั้นก็ได้ถูกยกเลิกไปและได้ถูกบรรจุอยู่ในกีฬาโอลิมปิคอีกในปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี
ปี 1900 เกมส์การเล่นเทนนิสได้พัฒนาขึ้นมาก Renshaws เป็นผู้เริ่มการขึ้นเล่นหน้าเน็ต, Lawford ใช้ลูกท็อปสปิน (Topspin), Dwight Davis ผู้คิดวิธีการเสิร์ฟแบบอเมริกันทวิส (American Twist) ได้ให้ถ้วยรางวัลสำหรับการแข่งขันประเภททีมระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ซึ่งต่อมาได้เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นเข้าร่วมการแข่งขันและเป็นรายการแข่งขันประเภททีมชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรียกว่า การแข่งขันเดวิสคัพ (Davis Cup)
ปี 1913 ได้มีการจัดตั้งสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ในสมัยนั้นเรียกว่า International Lawn Tennis Federation - ILTF, ปัจจุบันคือ International Tennis Federation - ITF) เพื่อวางกฎระเบียบ กติกาต่างๆ ให้เป็นสากลและประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก
ช่วงปี 1919-1945 ถือเป็นช่วงทองของกีฬาต่างๆ มีนักกีฬาระดับซุปเปอร์สตาร์กำเนิดขึ้นมากมาย เช่น เบสบอล - Babe Ruth; มวย - Jack Dempsey; กอล์ฟ - Boby Jones; ม้าแข่ง - Man o' War; เทนนิส - Bill Tilden, Suzanne Lenglen, Helen Wills Moody
ปี 1946-1967 สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีการแบ่งแยกระหว่างนักเทนนิสสมัครเล่น (Amateurs) และนักเทนนิสอาชีพ (Pros) รายการแข่งขันที่สำคัญต่างๆ ยังไม่อนุญาติให้นักเทนนิสอาชีพเข้าแข่ง เช่น Australian, French, Wimbledon, U.S Open รวมทั้ง Davis Cup นักเทนนิสที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ได้แก่ Jack Kramer, Pancho Segura, Pancho Gonzalez, Althea Gibson, Maureen Connolly, Rod Lever, Ken Rosewall & Lew Hoad, Neale Fraser, John Newcombe, Billie Jean King
ปี 1968-1996 เป็นยุคที่เรียกว่า Open Era รายการแข่งขันที่สำคัญหลายรายการมีเงินรางวัล และเปิดให้ทั้งนักเทนนิสสมัครเล่นและนักเทนนิสอาชีพเข้าแข่งร่วมกัน กีฬาเทนนิสกลายเป็นธุรกิจกีฬาที่ทำเงินมหาศาล มีการก่อตั้ง WCT (World Championship Tennis) และ ATP (Association of Tennis Pros) ในปี 1967 และ 1972 ตามลำดับ

http://www.educatepark.com/story/tennis.php 

 

ประวัติเทนนิสในประเทศไทย 

 

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้นำกีฬาเทนนิสเข้ามาสู่ประเทศไทยและในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มเล่นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวอังกฤษและอเมริกันที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่ในขณะนั้นคนไทยยังไม่สนใจการเล่นเทนนิสมากนัก คงเล่นกันในหมู่คนต่างชาติ ต่อมาจึงมีเจ้านายคนไทยชั้นสูง และข้าราชการชั้นสูงเริ่มเล่นลอนเทนนิสกัน ครั้งนั้นนักเทนนิสไทยบางท่านนุ่งผ้าม่วง เล่นเทนนิส บางคนระหว่างการเล่นก็กินหมาก ต่อมาจึงนุ่งกางเกงขายาว และต้องสีขาวตามแบบฉบับของชาวฝรั่ง ถือว่าเล่นเทนนิสต้องนุ่งกางเกงขายาวสีขาวเป็นการสุภาพกว่าขาสั้น
จนกระทั่งในราวปี พ.ศ. 2460 ประชาชนให้ความสนใจกันมากขึ้น จึงมีการตั้งสโมสรเทนนิสขึ้นอย่างเป็นทางการแห่งแรกที่พระราชอุทยานสราญรมย์ มีสมาชิกครั้งแรกเพียง 10 คน ต่อมาเปลี่ยนสถานที่ไปเล่นที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แต่ก็ล้มเลิกไปในที่สุด ในระหว่างนั้นก็มีอีกสโมสรหนึ่งที่มีการเล่นลอนเทนนิสคือ บางกอกยูไนเต็ดคลับ แต่เป็นสนามซีเมนต์เพียงสนามเดียว และมีเอกชนตั้งสโมสรลอนเทนนิสขึ้นหลายแห่ง เช่น บริษัทบอร์เนียว บริษัท บอมเบย์เบอร์มา ที่บ้านมิสเตอร์คอลลิน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และยังมีการเล่นลอนเทนนิสที่บ้านมิสเตอร์ลอฟตัส ซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียนนายเรือ ธนบุรี บ้านหมอแม็คฟาแลนด์ ที่โรงพยาบาลศิริราช และบ้านมิสเตอร์บัสโฟร์ หลังกองทัพเรือ สำหรับในหมู่คนไทยเช่นที่กระทรวงเกษตร สโมสรโรงเรียนนายเรือ
ในปี พ.ศ. 2469 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงจัดตั้งลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสโมสรเทนนิส 12 สโมสรคือ ราชกรีฑาสโมสร สโมสรรถไฟ สโมสรกีฬาอังกฤษ สโมสรกีฬาสามัคยาจารย์ สโมสรนครสวรรค์ สโมสรสีลม สโมสรลำปาง สโมสรนวรัฐ สโมสรเชียงใหม่ยิมคานา สโมสรสงขลา สโมสรกลาโหมและสโมสรภูเก็ต ได้ส่งผู้แทนเข้าประชุมกันเป็นครั้งแรกที่วังกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ในที่ประชุมก็ได้ลงมติเอกฉันท์ให้ตั้ง "ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย" และได้ทรงดำรงตำแหน่งนายกของลอนเทนนิสสมาคมเป็นคนแรก พร้อมทั้งได้ออกกฎข้อบังคับของสมาคมฯขึ้นใช้เป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งได้ใช้เป็นบรรทัดฐานมาจนถึงปัจจุบันนี้
คณะกรรมการชุดแรกของลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยคือ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงเป็นนายกสมาคมฯ นายอาร์ดี. เครก เป็นเลขานุการกิติมศักดิ์ พระยาสุพรรณสมบัติเป็นเหรัญญิกกิติมศักดิ์ ส่วนสโมสรที่อยู่ในเครือที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการคือ
1. ราชกรีฑาสโมสร
2. สโมสรกีฬาสามัคยาจารย์
3. สโมสรกีฬาอังกฤษ
4. สโมสรสีลม
5. สโมสรกลาโหม

      ะวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงมีส่วนสำคัญในการสร้างลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย และได้ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ถึง พ.ศ. 2482 เป็นเวลาถึง 12 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 พลเอกหลวงพรหมโยธี ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 พ.ต.ท. ขุนศรีวรากร ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม และในปี พ.ศ. 2490 หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์ ทรงเป็นนายกสมาคม
ถือว่าวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2470 เป็นวันสถาปนาลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ และในปลายปี พ.ศ. 2470 ทางสมาคมฯได้จัดการแข่งขันลอนเทนนิสเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกที่สโมสรสีลม และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงรับเอาลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดกีฬาเทนนิสมากและทรงเทนนิสอยู่เสมอในสนามเทนนิสวังสุโขทัย
ในปี พ.ศ. 2494 คณะกรรมการสมาคมได้คิดตราเครื่องหมายของสมาคมขึ้นเป็นพระมหามงกุฏ มีเครื่องหมาย 7 อยู่ข้างใต้ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และในปี พ.ศ. 2495 ทางสมาคมฯได้แปลกติกาลอนเทนนิสของสมาคมลอนเทนนิสระหว่างชาติขึ้น เพื่อเป็นหลักในการแข่งขันและไว้เผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจกีฬาประเภทนี้ทราบโดยทั่วกัน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ทางลอนเทนนิสสมาคมฯ ได้จัดการแข่งขันให้กว้างขวางขึ้น มีการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศแห่งภาคขึ้นทุกภาคและคัดนักกีฬาที่ชนะเลิศเอามาแข่งขันเพื่อความชนะเลิศแห่งประเทศไทย ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็นหลายประเภท เช่น ประเภทชายเดี่ยว ประเภทชายคู่ ประเภทหญิงเดี่ยว ประเภทหญิงคู่ ประเภทคู่ผสม ประเภทชายเดี่ยวสูงอายุ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) ประเภทชายคู่สูงอายุ (อายุรวมกัน 100 ปีขึ้นไป) เป็นต้น
ในปี 2509 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดการแข่งขันเทนนิสที่สนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน ด้านหลังสนามศุภชลาศัย และหลังจากเสร็จการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์แล้ว กรมพลศึกษาได้อนุญาตให้ลอนเทนนิสสมาคมฯ เข้ามาใช้ห้องทำงานและสนาม 10 สนาม และต่อมาลอนเทนนิสสมาคมฯได้เปิดเทนนิสให้กับประชาชนทั่วไป
ปี 2520 เมื่อองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (การกีฬาแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน) ได้จัดสร้างสนามเทนนิส จำนวน 6 คอร์ต ขึ้นในบริเวณองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก ได้มอบให้ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้ครอบครอง และใช้สนามเทนนิสให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสมาคม และได้สร้างอาคารที่ทำการให้แก่ สมาคม ที่สนามเทนนิสแห่งนี้ด้วย
กีฬาเทนนิสในประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาก ในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 8 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2521 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้นนักเทนนิสประเภทคู่ผสมของไทย คือ จารึก เฮงรัศมี นักเทนนิสชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ และสุทธาสินี ศิริกายะ ได้ตำแหน่งชนะเลิศ ปัจจุบันมีนักเทนนิสไทยอยู่ในระดับโลกหลายคน และหวังว่าทุกๆส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย คงมีแผนงานระยะยาวที่จะทำให้กีฬาเทนนิสเมืองไทยมีมาตรฐานเท่าเทียมกับประเทศอเมริกาและกลุ่มในประเทศยุโรป

   http://www.educatepark.com/story/tennis.php



 

 

 



 


 

 

 

 


 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 220,960 Today: 8 PageView/Month: 86

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...